Header Ads

กระทรวงแรงงาน สัมมนาป้องกันเลือกปฏิบัติ ความรุนแรง ล่วงละเมิดทางเพศ


กระทรวงแรงงาน สัมมนาป้องกันเลือกปฏิบัติ ความรุนแรง ล่วงละเมิดทางเพศ

 

ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เปิดสัมมนาการป้องกันการเลือกปฏิบัติ ความรุนแรง และการล่วงละเมิดทางเพศ

 

วันที่ 23 กรกฎาคม 2565 เวลา 09.00 น. นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนา การป้องกันการเลือกปฏิบัติ ความรุนแรง และการล่วงละเมิดทางเพศ: สถานที่ทำงานปราศจากการเลือกปฏิบัติ ความรุนแรง และการล่วงละเมิด โดยมี นานเอกสิทธิ์ คุณานันทกุล ประธานสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย Ms. Joni Simpson ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านความเท่าเทียมระหว่างเพศและการไม่เลือกปฏิบัติ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ และหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดชลบุรี เข้าร่วมการสัมมนา ณ โรงแรมโนโวเทล มารีน่า ศรีราชา จังหวัดชลบุรี โดยผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การป้องกันการเลือกปฏิบัติ ความรุนแรง และการล่วงละเมิดทางเพศ: สถานที่ทำงานปราศจากการเลือกปฏิบัติ ความรุนแรง และการล่วงละเมิด เป็นประเด็นที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับนายจ้าง ลูกจ้าง และทุกคนในโลกแห่งการทำงาน รวมถึงเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสนใจ ความรุนแรง และการคุกคามในโลกแห่งการทำงาน ถือเป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรม และเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นภัยคุกคามต่อโอกาสที่เท่าเทียมกัน เป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ และขัดกับหลักการของงานที่มีคุณค่า องค์การแรงงานระหว่างประเทศ จึงได้มีมติในที่ประชุมใหญ่สมัยที่ 108 เมื่อปี พ.ศ. 2562 รับรองอนุสัญญา ฉบับที่ 190 และข้อแนะฉบับที่ 206 ว่าด้วยความรุนแรงและการคุกคามในโลกแห่งการทำงาน ค.ศ. 2019 เพื่อเป็นกรอบแนวทางสำหรับรัฐสมาชิกในการคุ้มครองบุคคลทุกคนในโลกแห่งการทำงาน ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นลูกจ้าง นายจ้าง ผู้ฝึกงาน อาสาสมัคร คนหางาน ผู้สมัครงานหรือบุคคลใช้อำนาจหน้าที่ของนายจ้าง ให้ได้รับความคุ้มครองจากความรุนแรงและการล่วงละเมิด ทั้งทางกายภาพ ทางจิตใจ ทางเพศ หรือทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในสถานที่ทำงานหรือสถานที่อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน รัฐบาลไทยตระหนักถึงผลกระทบของความรุนแรงและการล่วงละเมิดที่มีต่อโลกแห่งการทำงาน และได้ร่วมลงคะแนนเสียงสนับสนุนตราสารทั้งสองฉบับ โดยขณะนี้กระทรวงแรงงาน อยู่ระหว่างการศึกษาช่องว่างทางกฎหมายของประเทศไทย เปรียบเทียบกับอนุสัญญาฉบับที่ 190 ร่วมกับโครงการ Safe and Fair เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาและปรับปรุงกฎหมายภายในประเทศให้สอดคล้องกับอนุสัญญา รวมถึงเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาความเป็นไปได้ในการให้สัตยาบันอนุสัญญา

 

ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ในนามของกระทรวงแรงงานขอยืนยันความมุ่งมั่นในการดำเนินการร่วมกับภาคีทุกฝ่าย เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ และขจัดความรุนแรง และการคุกคามในโลกแห่งการทำงาน ผ่านการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ดังจะเห็นได้จากพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งกล่าวถึงการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงานของภาคเอกชน คือ มาตรา 16 ที่ห้ามมิให้นายจ้าง หัวหน้างาน ผู้ควบคุมงาน หรือผู้ตรวจงานกระทำการล่วงเกินคุกคาม หรือก่อความเดือดร้อนรำคาญทางเพศต่อลูกจ้างในบทบัญญัตินี้ รวมทั้งหมด คือ ไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตามจะต้องไม่ถูกล่วงเกินคุกคามทางเพศ ตลอดจนสร้างกระบวนการเยียวยาและให้ความช่วยเหลือผู้เสียหาย รวมถึงการฝึกอบรมสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ทุกฝ่าย อย่างไรก็ตาม การสร้างโลกแห่งการทำงานที่ปราศจากความรุนแรงและการคุกคามในทุกรูปแบบ จำเป็นที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกท่าน โดยเฉพาะภาคธุรกิจและสถานประกอบกิจการ ซึ่งการประชุมสัมมนาในวันนี้ ถือเป็นโอกาสอันดีที่ผู้บริหาร และผู้รับผิดชอบด้านทรัพยากรบุคคลของสถานประกอบการ จะได้รับทราบเกี่ยวกับอนุสัญญาฉบับที่ 190 และข้อแนะฉบับที่ 206 รวมถึงกรณีศึกษาเกี่ยวกับการป้องกันความรุนแรงและการล่วงละเมิดจากผู้เชี่ยวชาญขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ได้รับทราบเกี่ยวกับกรอบกฎหมายและการริเริ่มของรัฐบาล และชุดเครื่องมือของนายจ้างในการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ และการป้องกันความรุนแรงและการล่วงละเมิดในที่สถานที่ทำงาน พร้อมเปิดเวทีอภิปรายเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นของปัญหาและความท้าทายในการจัดการและป้องกันความรุนแรงและการล่วงละเมิดในสถานที่ทำงาน



ไม่มีความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.