วธ. เดินหน้าชี้แจงแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570) พร้อมมอบเกียรติบัตรประกาศยกย่ององค์กรคุณธรรมในสังกัดองค์กรอิสระภาครัฐและเอกชนในส่วนกลาง 71 แห่ง
วันที่ 26 มกราคม 2566 นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) ในฐานะรองประธานกรรมการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ เป็นประธานในประชุมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติงานคุณธรรมแห่งชาติ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570)
เพื่อส่งเสริมและบูรณาการร่วมกันในการขับเคลื่อนคุณธรรมในสังคมไทย โดยมี นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายชัยพล สุขเอี่ยม อธิบดีกรมการศาสนา ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม คณะอนุกรรมการส่งเสริมคุณธรรม และเครือข่ายองค์กรคุณธรรมในส่วนกลางเข้าร่วมประชุม ที่โรงแรม เอส รัชดา เลเซอร์
นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570) เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมการศาสนาในฐานะสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ จึงได้จัดประชุมชี้แจงการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมคุณธรรม ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570) โดยมีหน่วยงานในส่วนกลางเข้าร่วมรวม 50 หน่วยงาน เพื่อสร้างการรับรู้ และบูรณาการให้ทุกภาคส่วนร่วมกันขับเคลื่อนแผนต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผลสำเร็จตามเป้าหมาย ที่ต้องการให้ “คนไทยมีพฤติกรรมที่สะท้อนการมีคุณธรรมเพิ่มขึ้น มุ่งสู่สังคมคุณธรรมที่คนไทยอยู่ร่วมกันด้วยความสมานฉันท์ ภายใต้หลักธรรมทางศาสนา หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง วิถีวัฒนธรรมไทยที่ดีงาม ประเทศไทยปลอดทุจริตและประพฤติมิชอบ”
ซึ่งมีตัวชี้วัด ดัชนีคุณธรรม 5 ประการ ได้แก่ พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา และกตัญญู รวมถึงการมีระบบการบริหารงานด้านคุณธรรมที่มีมาตรฐาน มีแผนงานและกิจกรรมส่งเสริมคุณธรรม สร้างวัฒนธรรมให้บุคลากรภาครัฐมีความสุจริต ทำให้ให้ค่าคะแนนการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ หรือ ITA ของหน่วยงานภาครัฐเพิ่มขึ้น ส่งผลให้คุณธรรมในสังคมไทยปรากฏชัดและเป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) กล่าวต่อว่า เพื่อให้เป้าหมายในอนาคตอีก 5 ปีต่อจากนี้เห็นผลเป็นรูปธรรม ทุกภาคส่วนจึงต้องร่วมมือกันผลักดันให้ “คุณธรรม” เป็นคุณค่าหลักนำการพัฒนา ร่วมกันส่งเสริมความดีให้เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ รวมถึงการปรับเปลี่ยนค่านิยมและจิตสำนึกที่ดีงามแก่คนไทยทุกช่วงวัยอย่างต่อเนื่องจนเกิดเป็น “วิถีคุณธรรม” คือการดำเนินชีวิตอย่างมีคุณธรรม ยึดถือปฏิบัติจนเป็นความเคยชินและเป็นความดีงามที่แสดงออกมาผ่านทางพฤติกรรม และเป็นหัวใจสำคัญให้เกิดการพลิกโฉมประเทศ ก้าวไปสู่สังคมคุณธรรม และทำให้ประเทศไทยมีความสุขสงบอย่างยั่งยืน
ไม่มีความคิดเห็น