Header Ads

ทำไมการผ่าตัดรักษาโรคอ้วนถึงเป็นมากกว่าความสวยงาม


นพ.ศิรสิทธิ์ เลาหทัย
ศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านการผ่าตัดส่องกล้องขั้นสูง

เชื่อมั้ยว่ายังมีหลาย ๆ คนคิดว่าการผ่าตัดโรคอ้วนคือการผ่าตัดเสริมสวย แต่จะมีใครรู้มั้ยว่าการผ่าตัดช่วยให้มีอายุยืนยาวมากขึ้นถึง เกือบ 10 ปี ลดความเสี่ยงการเป็นโรคหัวใจ ลดยาที่กิน อาการหอบหืดดีขึ้น นอนหลับสบายขึ้น และนี่ยังเป็นเพียงแค่เสี้ยวหนึ่งของประโยชน์หลังการผ่าตัดรักษาโรคอ้วน


แต่ถึงกระนั้น ก็ยังมีคำถามตามมาอีกว่า “งั้นก็คุมอาหาร ออกกำลังกายสิ หลาย ๆ คนก็ทำได้ไม่ใช่เหรอ” ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่คำพูดที่ผิด แต่มันก็ถูกเพียงแค่ครึ่งเดียว เนื่องจากในความเป็นจริงแล้ว นอกจากเรื่องของจิตใจ วินัย หรือ การควบคุมตนเอง ยังมีทางด้าน สังคม สภาวะความเป็นอยู่ เศรษฐสถานะ สุขภาพร่างกาย โรคประจำตัว ไปจนถึงฮอร์โมนของร่างกาย ที่ทำให้การปรับพฤติกรรมไม่ใช่เรื่องง่าย ยกตัวอย่างเช่น ในคนที่น้ำหนักตัวมาก มีโรคข้อเข่าเสื่อม มีงานประจำ จะสามารถเริ่มปรับพฤติกรรมจากการออกกำลังกายได้อย่างไร


คนที่มีน้ำหนักตัวมากทุก ๆ คนคงเคยผ่านการคุมอาหาร ปรับพฤติกรรมหรือบางคนอาจจะได้รับการฉีดยา หรือทานยาลดน้ำหนักต่าง ๆ มาก่อน ทั้งรู้สึกทรมานหรือหิวตลอดเวลาและถึงแม้จะลดน้ำหนักมาได้แล้ว 10-20 กก. สุดท้ายเมื่อเราไม่สามารถคุมอาหารได้ต่อเนื่อง น้ำหนักก็กลับขึ้นไปสูงกว่าเก่าอีก สาเหตุก็เป็นเพราะกระเพาะเรามีขนาดใหญ่ มีความจุมาก มีการผลิตฮอร์โมนความหิวอยู่ ทำให้การปรับพฤติกรรมเพียงอย่างเดียวจึงเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายสำหรับใครหลายๆคน แต่ทว่าการผ่าตัด นอกจากจะเป็นการลดความจุของกระเพาะไปได้ 80% แล้ว ยังลดการผลิตฮอร์โมนความหิว หรือ Ghrelin ทำให้เรามีความอยากอาหารน้อยลง และถึงแม้ว่าเราอยากทานอาหารเพียงใดก็ตาม เราก็ไม่สามารถทานได้เหมือนปกติ เนื่องจากความจุของกระเพาะอาหารเราลดลง ถ้าเราฝืนทานเข้าไป จะรู้สึกจุกแน่น และอาเจียนได้ นี่จึงเป็นสาเหตุที่ว่าทำไมการผ่าตัดจึงเป็นวิธีการลดน้ำหนักที่เห็นผลได้จริง และยั่งยืน


ต่อมาเรามาดูกันว่า ประโยชน์ของการผ่าตัดส่องกล้องรักษาโรคอ้วน หรือ ที่หลาย ๆ คนเรียกว่า การผ่าตัดกระเพาะลดน้ำหนัก (Bariatric surgery) นั้น สามารถช่วยอะไรเราได้บ้าง
1.ลดน้ำหนักได้ถึง 70-85% ของน้ำหนักส่วนเกิน ใน 1-2 ปีแรกหลังการผ่าตัด หรือถ้าตีเป็นตัวเลขกลมๆคือประมาณ 30-40% ของน้ำหนักตั้งต้น ขึ้นอยู่กับน้ำหนักแรกเริ่มของเรา วิธีการผ่าตัด ตลอดจนการปรับพฤติกรรมหลังผ่าตัด
2.อายุยืนยาวมากขึ้น ถึง 9.3 ปี ในผู้ป่วยที่มีโรคเบาหวานร่วมด้วย และ อายุยืนยาวขึ้น 5.1 ในผู้ป่วยที่ไม่เป็นเบาหวาน
3.ช่วยทำให้หายจากโรคเบาหวาน ความดันในเลือดสูง ไขมันสูง ได้ถึง 60% สามารถลดปริมาณยา คุมระดับความดัน หรือระดับน้ำตาลในเลือดได้ง่ายขึ้น
4.ลดความเสี่ยงของการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง หัวใจวายเฉียบพลัน
5.ลดโอกาสการเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม
6.ลดการนอนกรน ทำให้พักผ่อนได้มากขึ้น และรบกวนผู้อื่นน้อยลง
7.อาการหอบหืดดีขึ้น หายใจสะดวกขึ้น
8.ประจำเดือนมาปกติขึ้น ในผู้ป่วยที่เป็นโรคถุงน้ำรังไข่ (หรือ PCOS) และ อาจจะส่งผลให้มีบุตรได้ง่ายขึ้น
9.ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และส่งเสริมให้มีความมั่นใจในตนเอง และมีบุคลิกภาพที่ดีขึ้น


อย่างไรก็ตามการผ่าตัดส่องกล้องรักษาโรคอ้วน อาจจะไม่ได้เป็นฝันหวานเสมอไป ยังมีอีกหลายสิ่งที่ต้องแลกมาหลังการผ่าตัด ดังนี้ คือ
1.ความเสี่ยง หรือ ภาวะแทรกซ้อนระหว่างการผ่าตัด เช่น เลือดออกในช่องท้อง หรือ กระเพาะรั่วภายหลังการผ่าตัด ซึ่งสามารถพบได้ประมาณ 0.1-1%
2.อาการกรดไหลย้อนหลังผ่าตัด สามารถพบได้ 10-20% ของผู้ป่วย โดยส่วนใหญ่แล้วการปรับพฤติกรรมการกิน ร่วมกับการกินยา จะช่วยลดอาการกรดไหลย้อนดังกล่าว
3.ผมร่วง หรือภาวะขาดสารอาหาร ถึงแม้ว่าเราจะทานโปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุเสริมก็ตาม การที่น้ำหนักเราลดลงด้วยความรวดเร็ว ยังเป็นปัจจัยหนึ่งที่สามารถทำให้ผมร่วงได้ ภายหลังการผ่าตัด 3-4 เดือน
4.ไม่สามารถทานอาหารและน้ำได้เหมือนก่อนผ่าตัด ทั้งวิธีการกิน และ ปริมาณ โดยปกติเราสามารถทานน้ำได้ 1-2 แก้วโดยไม่มีปัญหา สามารถกินข้าวหมดจานได้สบายๆ แต่ทว่าหลังการผ่าตัดแล้วเราจะต้องปรับการทานอาหารโดยทานคำเล็กลง เคี้ยวสัก 20-30 ครั้งก่อนค่อยกลืน กว่าจะทานปลาได้สักครึ่งชิ้น อาจใช้เวลาถึงครึ่งชั่วโมง หลังจากทานอาหารเสร็จก็ไม่สามารถทานน้ำได้ ต้องรออีก 30 นาที ไม่อย่างงั้นจะมีอาการจุกแน่นและอาเจียน น้ำก็ต้องค่อยๆจิบ คำเล็กๆ ดื่มเร็วไปอาจจะทำให้แน่นได้ ถ้าดื่มน้ำน้อยไปก็จะมีอาการหน้ามืด ขาดน้ำได้อีก
5.ความสุขในการทานอาหารเราจะหายไป จึงจำเป็นต้องระมัดระวังในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า
6.ไม่สามารถทานอาหาร หรือ เครื่องดื่ม บางอย่างได้ เช่น อาหารที่เผ็ด น้ำอัดลม หรือ เครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์
7.น้ำหนักอาจกลับมาขึ้นได้ 1-2 ปีหลังจากการผ่าตัด ถ้าเราไม่ได้ปรับพฤติกรรมอย่างต่อเนื่อง กระเพาะจะเริ่มขยายตัว และน้ำหนักอาจจะเพิ่มขึ้นได้

ดังนั้นแล้วผู้ป่วยที่เหมาะสมสำหรับการผ่าตัด ตามข้อบ่งชี้ใน “แนวทางเวชปฏิบัติในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคอ้วนด้วยการผ่าตัดแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2564” ได้แก่
-ผู้ป่วยที่มี ดัชนีมวลกาย (BMI) > 37.5
-ผู้ป่วยที่มี ดัชนีมวลกาย (BMI) > 32.5 และมีโรคร่วม ได้แก่ เบาหวาน หวามดันในเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง ไขมันเกาะตับ ทางเดินหายใจอุดกลั้นขณะหลับ ข้อเข่าเสื่อม ฯลฯ
-ผู้ป่วยที่มี ดัชนีมวลกาย (BMI) > 27.5 และมีโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ไม่สามารถควบคุมได้ด้วยยา

สุดท้ายนี้ถึงแม้ว่าการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคอ้วน จะเป็นวิธีลดน้ำหนักที่ยั่งยืนและเห็นผลได้จริง แต่ความร่วมมือในการปรับพฤติกรรมของผู้ป่วยก็ยังเป็นสิ่งสำคัญที่สุดเพื่อที่จะทำให้ผลการรักษาสามารถคงอยู่ต่อไปได้ในระยะยาว

ผู้สนใจสามารถปรึกษาหรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมหรือสอบถามเกี่ยวกับเรื่องของกระเพาะอาหารได้ที่ เพจ Facebook : หมอโจอี้ นพ.ศิรสิทธิ์ เลาหทัย ศัลยแพทย์เฉพาะทางผ่าตัดส่องกล้อง หรือ Line : @dr.sirasit หรือ Website : www.doctorsirasit.com


ไม่มีความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.