Header Ads

ดีป้า มุ่งสร้างคอนเทนต์ครีเอเตอร์ อินฟลูเอนเซอร์คุณภาพ ผ่านโครงการ CONNEXION หลักสูตรออนไลน์เรียนฟรี ทางลัดสู่อาชีพใหม่ในยุคดิจิทัล


ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมดิจิทัลโดยเฉพาะธุรกิจอีคอมเมิร์ซมีอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดดควบคู่กับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสู่ชีวิตวิถีใหม่ ซึ่งเป็นกลไกกระตุ้นให้ธุรกิจออนไลน์มีบทบาทมากขึ้นและกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงดิจิทัลฯ โดย ดีป้า ร่วมกับ เครือข่ายพันธมิตร เปิดตัวโครงการ CONNEXION มุ่งยกระดับองค์ความรู้ พัฒนาทักษะชุดใหม่ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลแก่ประชาชนไทย โดยเฉพาะผู้ว่างงานและนักศึกษาจบใหม่ที่กำลังหางานให้มีความพร้อมต่อการประกอบอาชีพใหม่ในยุคดิจิทัล อย่าง ดิจิทัลคอนเทนต์ครีเอเตอร์ และดิจิทัลอินฟลูเอนเซอร์ที่มีคุณภาพ โดยจับมือกับเหล่าผู้เชี่ยวชาญในแวดวงสื่อโซเชียลออนไลน์ 15 ท่าน ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ โดยเริ่มเปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ผ่านทาง www.depaconnexion.com โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย


นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ CONNEXION หนึ่งในโครงการสำคัญประจำปี 2566 ของ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า ภายใต้แนวคิด DIGITAL INFINITY | ดิจิทัลไม่มีที่สิ้นสุด เผยว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้ความสำคัญเรื่องอีคอมเมิร์ซ ค้าขายออนไลน์มาโดยตลอด เราเห็นการพัฒนาของอีคอมเมิร์ซมาหลายปีแล้ว เริ่มจากยุคแรก ร้านค้าเปิดเว็บไซต์ขายให้ลูกค้า ยุคที่ 2 เข้าสู่มาร์เก็ตเพลส หรือ E-marketplace ซึ่งยุคนี้เติบโตในช่วงโควิดพอดีทำให้เกิดการซื้อของออนไลน์กันเยอะมาก ประกอบกับการพัฒนาช่องทางการจ่ายเงินที่สะดวกและปลอดภัยมากขึ้น และปัจจุบันเรากำลังก้าวสู่ยุคที่ 3 คือ ยุคดิจิทัล ไดเร็กเซล ซึ่งก็คือ อินฟลูเอนเซอร์สามารถโฆษณาแล้วขายโดยไม่ต้องผ่านตัวกลางหรือ marketplace ซึ่งเป็นยุคที่จะเกิดขึ้นได้หากเราช่วยกันผลักดัน


โครงการ CONNEXION ของ ดีป้า เป้าหมายคืออยากส่งเสริม E-Commerce ในการฝึกเยาวชนคนรุ่นใหม่หรือคนทั่วไปที่สนใจทักษะการขายของออนไลน์ คอนเทนต์ครีเอเตอร์และอินฟลูเอนเซอร์ให้มีคนดูเยอะๆ สามารถขายของไปด้วยจะได้มีรายได้ โดยตั้งเป้าผู้สมัครไว้ 25,000 คน ที่สำคัญคือ การสร้างเครือข่ายของอินฟลูเอนเซอร์ สร้างคอนเทนต์ครีเอเตอร์ในรูปแบบต่าง ๆ สินค้าของคนไทยก็จะขายได้มากขึ้น ผู้ผลิตสินค้าก็จะสามารถผลิตสินค้าได้มากขึ้น ในขณะที่คนรุ่นใหม่ที่เข้ามาในธุรกิจอีคอมเมิร์ซก็จะสามารถมีรายได้จากการสร้างสรรค์คอนเทนต์ รวมถึงเชื่อมโยงกันด้านการเก็บข้อมูล ใช้วิเคราะห์การตลาด ข้อมูลธุรกิจ รวมถึงเป็นเครื่องมือหาสินเชื่อให้ด้วย ถ้าเรามีข้อมูลการค้าออนไลน์จะทำให้เกิดเครดิตสตอรี่ อยากให้ทุกคนเข้ามาร่วมกัน เพื่อการเติบโตเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศให้ก้าวไปสู่สิ่งที่เราตั้งใจจะเป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียน อย่างไรก็ตามอยากจะฝากถึงน้องๆ ที่หันมาประกอบอาชีพนี้ว่า การมีรายได้นั้นหมายถึงต้องมีการเสียภาษี ไม่ขายของผิดกฏหมาย และ ต้องมีความซื่อตรงสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้า


ด้าน ผศ. ดร. ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า เปิดเผยว่า โครงการ CONNEXION โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับองค์ความรู้ พัฒนาทักษะชุดใหม่ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลแก่ประชาชนไทย โดยเฉพาะผู้ว่างงานและนักศึกษาจบใหม่ที่กำลังหางานให้มีความพร้อมต่อการประกอบอาชีพใหม่ในยุคดิจิทัลที่มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซไทย โดยแบ่งเป็นแพลตฟอร์ม CONNEXION (www.depa.connexion.com) จัดอบรม 2 หลักสูตร ประกอบด้วย หลักสูตร Digital Content Creator และหลักสูตร Digital Influencer โดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ Basic- Intermediate- Advanced โดยทั้ง 2 หลักสูตรจะเปิดรับผู้เรียน ไม่น้อยกว่า 25,000 ราย ซึ่งทั้งหมดจะได้เรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติจากผู้เชี่ยวชาญในแวดวง และผลักดันให้เกิดการรีวิว หรือการสร้าง Storytelling ให้กับสินค้าไม่น้อยกว่า 200,000 รายการ โดยจะมีการจัดโรดโชว์ใน 6 ภูมิภาค เพื่อสร้างการรับรู้แก่ผู้ที่สนใจ และเข้ารับการยกระดับในหลักสูตรต่าง ๆ ส่วนผู้เข้ารับการอบรมที่ผ่านเกณฑ์และมีผลงานที่น่าสนใจจะมีโอกาสเข้าสู่ขั้นตอนการจัดแสดงในโครงการ ซึ่งผลงานที่น่าสนใจจะได้รับโอกาส Pitching กับคณะกรรมการ เพื่อต่อยอดและสร้างโอกาสเข้าร่วมงานกับบริษัทชั้นนำทั้งไทยและต่างชาติ


กุลธิรัตน์ ภควัชร์ไกรเลิศ นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย เผยถึงการเติบโตของอีคอมเมิร์ซว่า อีคอมเมิร์ซเติบโตทุกปีโดยเฉพาะโควิดเป็นตัวเร่งทุกคนมุ่งสู่ช่องทางดิจิทัล มิติในการเติบโตมองเป็น 3 มิติ คือ 1. อีคอมเมิร์ซในไทยทุกคนต้องมีอย่างน้อย 5 ข้อ ได้แก่ มีอีคอมเมิร์ซ มีมาร์เก็ตเพลสเป็นของตัวเอง และวัดผลว่า 3-6 เดือน มียอดขายเป็นอย่างไร และมาทำ CRM ให้ดี 2. E-Marketing (การตลาดอิเล็กทรอนิกส์) ของเราเป็นอย่างไร 3. E-logistics (อีโลจิสติกส์) เราสามารถส่งของถึงมือลูกค้าภายใน1-3 วันหรือภายใน 1 วันได้หรือไม่ เพราะทุกคนต้องการความเร็ว 4. E-Payment ช่องทางการชำระเงินสะดวก ปลอดภัยหรือไม่ และ 5 E-Commerce plus Entertainment ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะดึงให้คนสนใจ ซึ่งคาดว่ามูลค่าการเติบโตอีคอมเมิร์ซในไทยจากแปดแสนล้านเป็นสี่ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ทางสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทยร่วมกับหลายพันธมิตร มองว่าเราไปถึงแน่นอนเพราะต่อไปนี้เศรษฐกิจจะขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล มิติที่ 2 คือ Cross border e-commerce ปั้น KOL ในไทยให้แข็งแรงแล้วเราก็จะมีต้นแบบดีดี อย่าง KOLต่างประเทศ อาทิ KOL ประเทศจีน หลี่เจียฉี ไลฟ์ขายลิปสติก 6 เดือน 9 หมื่นกว่าล้านบาท มิติที่3 คือ Meta – Commerce การซื้อขายสินค้าบนโลกเสมือนจริง ซึ่งปัจจุบันเราก็มี Virtual KOL เกิดขึ้นแล้ว เพราะฉะนั้นในอนาคตการซื้อของผ่าน VR AR จะกลายเป็นเรื่องปกติ ซึ่งทั้ง 3 มิติจะถูกเชื่อมโยงด้วย Live commerce เชื่อว่าเทรนด์ E-Commerce ไม่มีวันตายมีแต่จะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ

อภิวิชญ์ เอกธาราวงศ์ จากเพจ Eatguide มองทิศทางอินฟลูเอนเซอร์ว่า จะเกิดอินฟลูเอนเซอร์ที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้นตามความสนใจของคนดู ซึ่งตลาดจะเป็น Niche Market แต่มีกำลังซื้อสูง สำหรับ key success ของผม คือ การสร้างแบรนด์ดิ้งของตัวเองทำคอนเทนต์ที่สอดคล้องกับจุดยืน และทำคอนเทนต์บนพื้นฐานของความจริงใจ

ด้าน โปแปง อุดมพัฒน์วรโชติ TikToker ในชื่อ Jessicaqueennnn เผยว่า แม้ทุกวันนี้ใครก็สามารถเป็นอินฟลูฯ ได้ แต่การจะประสบความสำเร็จมีคนติดตามและทำเป็นอาชีพได้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย อย่างตัวแปงเองใช้เวลากว่า 6 เดือน ในการลองผิดลองถูกและค้นหาสไตล์ของตัวเองเจอ ซึ่งโครงการ CONNEXION เป็นโครงการที่ดีมาก ๆ เพราะเป็นเสมือนทางลัด อินฟลูฯ หลายท่านจะมาแชร์ประสบการณ์ตรง อุปสรรคต่าง ๆ เทคนิคการนำเสนอ หรือแม้แต่การรับมือกับดราม่าที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ


ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสารและรายละเอียดของโครงการ CONNEXION ได้ใน 3 ช่องทางคือ Website: www.depaconnexion.com หรือ Facebook: depaCONNEXION และ LINE OA: @depaconnexion

ไม่มีความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.