Header Ads

BRR ปี 66 ตอกย้ำ!! ทุกธุรกิจโตไม่ยั้ง ชู Wood Pellet ฮอต โกยรายได้ Q3 ปีนี้ เดินหน้ามุ่งสู่การดำเนินธุรกิจแบบ New S Curve เป้า 5 ปีรายได้แตะ 1 หมื่นลบ.


บมจ. น้ำตาลบุรีรัมย์ หรือ BRR ประเมินแนวโน้มปีนี้สดใสต่อเนื่อง หนุนทั้งปี 66 ผลงานขยายตัวจากปีที่ผ่านมา พร้อมเดินหน้ามุ่งสู่การดำเนินธุรกิจแบบ New S Curve ตอกย้ำ!!! สู่ความยั่งยืนและใส่ใจสิ่งแวดล้อม ชูโครงการเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง (Wood Pellet) สุดฮอต เป็นที่ต้องการของญี่ปุ่นพร้อมลงทุนเพิ่ม รับเจรจานักลงทุน และเร่งขอสัมปทาน ส่วนเฟสแรกปลูกป่า 4 หมื่นไร่ ใน สปป. ลาวผลิต 1 แสนตัน ญี่ปุ่นเซ็นเหมาซื้อระยะยาว 15 ปี เริ่มโกยรายได้ไตรมาส 3 ปีนี้ ล่าสุดออกวอแรนต์ 2 ชุด คือ BRR-W1 และ BRR-W2 เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและรองรับโครงการลงทุนในอนาคต พร้อมตั้งธงแผน 5 ปี (2566-2570) รายได้แตะ 1 หมื่นล้านบาท

นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR เปิดเผยว่า แผนกลยุทธ์ปี 2566 บริษัทฯ วางเป้าหมายการเติบโตจากศักยภาพของทุกกลุ่มธุรกิจ สนับสนุนผลงานในปีนี้เชื่อว่าจะยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา และเดินหน้ามุ่งสู่การดำเนินธุรกิจแบบ New S Curve ที่เน้นความยั่งยืนและใส่ใจสิ่งแวดล้อมอย่างบรรจุภัณฑ์ชานอ้อย อีกทั้งธุรกิจหลักมีแนวโน้มขาขึ้นจากความต้องการน้ำตาลในตลาดโลกขยายตัว โดยแนวโน้มธุรกิจน้ำตาลในปี 2566 ราคายังอยู่ในทิศทางที่ดี ปัจจุบันราคาน้ำตาลปรับเพิ่มขึ้นมาราว 10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีการขายล่วงหน้าไปแล้ว 90% ของปริมาณการขายทั้งหมด ในราคาที่ค่อนข้างดี เมื่อรวมพรีเมียมต่าง ๆ จะเฉลี่ยอยู่ที่กว่า 20.50 เซนต์ต่อปอนด์ อีกทั้งได้รับปัจจัยบวกจากการอ่อนค่าของเงินบาท ที่คาดว่าปีนี้จะอยู่ที่ 33.50-35.50 ดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากปัจจุบันมีการส่งออกน้ำตาลคิดเป็นสัดส่วน 80% รวมทั้งรายได้จากธุรกิจบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อยขยายตัวมากขึ้น

ด้านความคืบหน้าโครงการ Wood Pellet ใน สปป. ลาว ที่ BRR ได้ร่วมกับพันธมิตรที่แข็งแกร่งอย่างราช กรุ๊ป และพันธมิตรจากทางญี่ปุ่นจัดตั้งบริษัทร่วมกัน ในนามบริษัท สีพันดอน–ราชลาว จำกัด มีกำลังการผลิต 100,000 ตันต่อปีนั้น บริษัทมีสัญญาจองซื้อระยะยาว 15 ปี จากบริษัทในประเทศญี่ปุ่นแล้ว ที่ราคาเฉลี่ย 170 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน คิดเป็นรายได้มูลค่า 17 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือราว 590 ล้านบาท โดยขณะนี้การก่อสร้างโรงงานและนำเข้าเครื่องจักรดำเนินการไป 59% แล้ว คาดว่าจะเริ่มรับรู้รายได้เข้ามาในไตรมาส 3 ปี 2566 นี้ตามแผน

ด้านกลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อย ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท ชูการ์เคน อีโคแวร์ จำกัด (SEW) ในปี 2566 มีแนวโน้มเติบโตกว่าปีที่ผ่านมาประมาณ 20% และคาดการณ์ว่าจะสร้างรายได้ 250-300 ล้านบาท โดยคาดว่าจะมีสัดส่วนการส่งออกประมาณ 90%

โดยปีนี้บริษัทมีการออกวอร์แรนต์ 2 ชุด คือ BRR-W1 จำนวนไม่เกิน 162,419,969 หน่วย ให้แก่ ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น (ซึ่งไม่จัดสรรให้ผู้ถือหุ้นที่จะทำให้บริษัทมีหน้าที่ตามกฎหมายต่างประเทศ) โดยไม่คิดมูลค่า ในอัตราส่วน 5 หุ้นเดิมต่อ 1 หน่วยใบสำคัญแสดงสิทธิ และกำหนดราคาการใช้สิทธิของใบสำคัญแสดงสิทธิเท่ากับ 7.50 บาทต่อหุ้น อายุของใบสำคัญแสดงสิทธิ 6 เดือน กำหนดใช้สิทธิครั้งแรกวันที่ 28 เม.ย. 2566 นี้ และกำหนดใช้สิทธิครั้งสุดท้าย วันที่ 11 สิงหาคม 2566 สำหรับ BRR-W1 บริษัทมีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับการลงทุน และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนเพื่อรองรับการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งด้านราคาและปริมาณจำหน่าย

และ BRR-W2 จำนวนไม่เกิน 81,209,984 หน่วย ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น (ซึ่งไม่จัดสรรให้ผู้ถือหุ้นที่จะทำให้บริษัทมีหน้าที่ตามกฎหมายต่างประเทศ) โดยไม่คิดมูลค่า ในอัตราส่วน 10 หุ้นเดิมต่อ 1 หน่วยใบสำคัญแสดงสิทธิ และกำหนดราคาการใช้สิทธิของใบสำคัญแสดงสิทธิเท่ากับ 13.00 บาทต่อหุ้น อายุของใบสำคัญแสดงสิทธิ 3 ปี กำหนดใช้สิทธิครั้งแรกวันที่ 30 มิ.ย. 2566 นี้ และกำหนดใช้สิทธิครั้งสุดท้าย วันที่ 13 ก.พ. 2569 สำหรับ BRR-W2 บริษัทมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการขยายธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจเดิมของบริษัทในอนาคต อาทิ ธุรกิจบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อย และธุรกิจ Wood Pellet ซึ่งการออก BRR-W2 จะสอดคล้องกับแผนการลงทุนของบริษัทในช่วง 3 ปีข้างหน้า ที่ได้วางแผนการลงทุนไว้ที่ 510 ล้านบาท โดยบริษัทเชื่อมั่นว่าจะสามารถผลักดันให้ธุรกิจเดินหน้าสู่เป้าหมายรายได้ 10,000 ล้านบาท ในอีก 5 ปีข้างหน้า

ส่วนการจับมือเป็นพันธมิตรกับกลุ่มบริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ JMART เพื่อปล่อยสินเชื่อ ปัจจุบันให้วงสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการปลูกอ้อย (เกี๊ยวอ้อย) แล้ว 300 ล้านบาท และภายในเดือนมีนาคมนี้ จะขยายตู้น้ำมันไปถึง 100 ตู้ รอบเขตพื้นที่ส่งเสริมการปลูกอ้อย ใน จ.บุรีรัมย์ นอกจากนี้ ยังมีสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ รวมทั้งผลิตภัณฑ์และบริการอื่น ๆ เช่น ประกันภัย เป็นต้น ผ่านเกษตรกรในเครือข่ายกว่า 20,000 ครัวเรือน และมีรถบรรทุกที่พร้อมจะนำมาทำสินเชื่อจำนำทะเบียนอีกประมาณ 2,500 คัน รวมทั้งการดึงร้านค้าซิงเกอร์มาเปิดในพื้นที่ชุมชนรอบโรงงาน และเขตพื้นที่ส่งเสริมการปลูกอ้อย ภายใน จ.บุรีรัมย์ คาดจะขยายต่อเนื่องไปจังหวัดใกล้เคียงต่อไป ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยสร้างงานสร้างอาชีพให้กับชุมชน ดังนั้น สิ่งที่ BRR จะได้นอกจากมาร์จิ้นจากค่าบริหารจัดการแล้ว เมื่อกลุ่มเกษตรกรในเครือข่ายมีเงินทุนต้นทุนต่ำ เกษตรกรก็จะนำไปพัฒนาปรับปรุงการผลิต ทำให้ผลผลิตอ้อยมีคุณภาพสูงและส่งให้แก่โรงงานได้เพิ่มขึ้น เป็นผลพลอยได้ที่จะตามมา โดยจะเป็นอีกสตอรี่เชิงบวกที่จะมาหนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนของ BRR ในระยะยาว

โดย BRR มีแผนการเติบโตใน 5 ปีข้างหน้า (2566-2570) บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้แตะ 10,000 ล้านบาทปัจจุบันกลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์มีโนฮาวด้านต่าง ๆ และเพื่อลดความเสี่ยงในธุรกิจน้ำตาล บริษัทได้แตกไลน์ในการพัฒนาธุรกิจบรรจุภัณฑ์ และธุรกิจเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง ซึ่งจะเข้ามาเพิ่มรายได้ทำให้ BRR เติบโตอย่างยั่งยืน และลดความเสี่ยงการสวิงของธุรกิจน้ำตาลซึ่งเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก กลุ่มธุรกิจ BRR จะเน้นการทำธุรกิจรักษ์โลก และต่อยอดธุรกิจคาร์บอนเครดิตต่อไป

ที่มา: ไออาร์ พลัส

ไม่มีความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.