วิกฤตฝุ่น PM 2.5 เสี่ยงโรคมะเร็งปอด เด็กสมองเติบโตไม่สมวัย
จากสถานการณ์ค่าฝุ่น PM 2.5 สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนส่งผลกระทบในวงกว้างและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดการประชุมเชิงวิชาการออนไลน์ เรื่อง เราจะอยู่กันอย่างไรในช่วงวิกฤตฝุ่น PM 2.5 สนับสนุนโดย บริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด หรือ GSK เพื่อนำองค์ความรู้ต่าง ๆ ทั้งด้านการแพทย์ วิศวกรรม และกฎหมาย มาร่วมหาทางออกในการแก้ไขร่วมกัน ขณะเดียวกันเพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชนตื่นตัวและรู้จักการดูแลสุขภาพและป้องกันตนเองเพื่อลดการสูญเสีย
ฝุ่น PM 2.5 เพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งปอด 1.1 เท่า
รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบทางเดินหายใจและวัณโรค โรงพยาบาลศิริราช กล่าวว่า การสูดฝุ่นเข้าไปจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ทั้งผลกระทบเฉพาะหน้าและในระยะยาว โดยจะทำให้ร่างกายเกิดการระคายเคือง แสบตา แสบจมูก เจ็บคอ ไอ มีเสมหะ จนถึงแน่นหน้าอก ระบบภูมิคุ้มกันลดลง ทำให้มีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายขึ้น ผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคเรื้อรัง เมื่อได้รับฝุ่นจะมีอาการมากกว่าคนปกติ และทำให้โรคพื้นฐานมีอาการกำเริบ กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคเรื้อรัง (ปอด หัวใจ สมอง ไต) จึงไม่ควรออกนอกบ้าน
"ผลในระยะยาวซึ่งเป็นภัยมืดที่เรามองไม่เห็น คือ สมรรถภาพปอดถดถอย หัวใจขาดเลือด สมองขาดเลือด ไตเสื่อม สำหรับสตรีมีครรภ์จะมีผลให้ทารกในครรภ์มีพัฒนาการที่ผิดปกติเมื่อคลอดออกมา พัฒนาการของปอดและสมองเติบโตไม่สมวัย ทำให้ผู้ใหญ่ของชาติในอีก 10-15 ปีข้างหน้าจะมีปอดที่ไม่แข็งแรง และคนกลุ่มนี้เมื่อแก่ตัวลงอาจจะเป็นภาระต่อระบบสุขภาพของประเทศ และสิ่งที่เรากลัวกันมาก คือ ทำให้เกิดมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งปอด ซึ่งในต่างประเทศมีข้อมูลที่ยืนยันได้ชัดเจนว่า คนที่อยู่ในพื้นที่ที่มีฝุ่น PM 2.5 สูงมีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งปอดมากกว่าคนปกติ"
ข้อมูลจากประเทศไต้หวัน มีการศึกษาของผู้หญิงที่ไม่สูบบุหรี่และอยู่ในพื้นที่ที่มีฝุ่น PM 2.5 สูงกว่า 30 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก.) เป็นเวลา 10 ปี มีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งปอด ประมาณ 10% หรือ 1.1 เท่าของคนที่ไม่สูบบุหรี่และอยู่ในพื้นที่ที่ปริมาณฝุ่นน้อย
วิธีป้องกันเมื่อต้องสัมผัสฝุ่น PM 2.5
1. ถ้าจำเป็นต้องออกไปอยู่ในพื้นที่ที่มีปริมาณฝุ่นสูง ควรใส่เสื้อผ้าที่ปกคลุมผิวหนังให้มากเพียงพอและใส่หน้ากากอนามัยที่มีประสิทธิภาพ เมื่อกลับเข้าที่พักอาศัย ต้องรีบกำจัดฝุ่นที่ติดค้างอยู่ไม่ให้ดูดซึมเข้าร่างกาย โดยการอาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้า บางคนที่สัมผัสฝุ่นแล้วมีการแสบจมูก ก็ต้องล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ
2. จัดหาอุปกรณ์ป้องกันฝุ่นในที่พักอาศัย เช่น เครื่องฟอกอากาศ ถ้าไม่มี ควรปิดประตูหน้าต่างกันฝุ่น เปิดพัดลม และใส่หน้ากากป้องกัน
3. การเลือกใช้หน้ากาก สำหรับคนทั่วไปการใช้หน้ากากอนามัยมีความคุ้มค่าที่สุด โดยหน้ากากอนามัยสามารถป้องกันฝุ่นได้ 50% และหากใส่หน้ากากอนามัย 2 ชั้น อาจป้องกันฝุ่นได้ประมาณ 60% ส่วนหน้ากาก N 95 ที่สามารถป้องกันฝุ่นได้ 95% นั้น เหมาะสำหรับกลุ่มคนที่จำเป็นต้องอยู่ข้างนอกหรืออยู่กลางแจ้งตลอดเวลา เช่น บุคคลที่ต้องทำหน้าที่บริการสาธารณะ
4. การออกกำลังกายในช่วงที่ฝุ่นมีปริมาณสูง ควรออกกำลังกายในร่ม และควรเป็นระดับหนักปานกลาง เช่น การวิ่งเหยาะ ๆ ว่ายน้ำ หรือ เต้นแอโรบิค โดยให้มีการทำงานของปอดและหัวใจที่ไม่มากเกินไป
5. ควรพกพาเครื่องวัดคุณภาพอากาศหรือใช้แอปพลิเคชันรายงานดัชนีคุณภาพอากาศ แต่แอปอาจมีข้อจำกัดที่ไม่เรียลไทม์และไม่ครอบคลุมในบางพื้นที่ โดยคุณภาพอากาศมาตรฐาน คือ ไม่เกิน 50 มคก. หากระดับ 50-100 มคก.จะเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง และระดับ 101-200 มคก. จะมีผลกระทบต่อสุขภาพ ควรลดหรืองดการทำกิจกรรมกลางแจ้ง และใส่หน้ากากป้องกันตลอดเวลา
จราจร แหล่งกำเนิดหลักของฝุ่น PM 2.5 ใน กทม.
ดร. เอกบดินทร์ วินิจกุล คณะสิ่งแวดล้อมทรัพยากรและการพัฒนา สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย กล่าวถึงแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศในไทยว่า ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เกิดจากการจราจร (53%) โรงงานอุตสาหกรรม (21%) การเผาในที่โล่ง (13%) ในพื้นที่ภาคเหนือ เกิดจากการเผาในที่โล่งและไฟป่า และในพื้นที่ภาคใต้ เกิดจากมลพิษข้ามแดน เช่น ไฟป่าในประเทศเพื่อนบ้าน
โดยหลักการจัดการคุณภาพอากาศวิธีที่ดีที่สุด คือ การจัดการที่แหล่งกำเนิด ผู้ที่สร้างมลพิษจะต้องเป็นผู้ที่จัดการ โดยใช้เครื่องมือทางวิชาการตรวจวัดคุณภาพอากาศด้วยวิธีมาตรฐานพร้อมรายงานผลสู่ประชาชน ทั้งการตรวจวัดมลพิษและบังคับใช้มาตรฐานการระบายมลพิษ การจัดทำบัญชีการระบายพิษเพื่อแสดงถึงแหล่งกำเนิดมลพิษในพื้นที่ต่าง ๆ รวมถึงการควบคุมแหล่งกำเนิด เช่น การตรวจจับรถควันดำ การตรวจมลพิษโรงงาน จัดการการเผาและไฟป่า ส่งเสริมการใช้รถไฟฟ้า และการใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ เพื่อประเมินประสิทธิภาพของมาตรการในการลดมลพิษ และคาดการณ์สถานการณ์ PM 2.5 ล่วงหน้า
ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงคุณภาพอากาศ
รศ. ดร. คนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายสิ่งแวดล้อม คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหัวหน้าทีมยกร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาด (ฉบับเครือข่ายอากาศสะอาด ประเทศไทย) กล่าวว่า ฝุ่น PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนทุกคน แต่ผู้คนอาจได้รับผลกระทบไม่เท่ากันจากความเหลื่อมล้ำต่าง ๆ ได้แก่ ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูลและความรู้คุณภาพอากาศ ทำให้ประชาชนไม่ได้รับรู้ข้อมูลระดับมลพิษ และไม่ได้รับคำแนะนำที่เหมาะสม ความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงอุปกรณ์ป้องกัน โดยเฉพาะหน้ากาก N 95 และเครื่องฟอกอากาศที่มีราคาสูง และความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองกับชนบท เนื่องจากภาครัฐให้ความสำคัญกับคนในกรุงเทพฯ หรือในเมืองใหญ่มากกว่าคนในต่างจังหวัด
ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษ คือ กฎหมายที่มีในปัจจุบันไม่เพียงพอ กฎหมายที่มีอยู่ไม่ทันสมัย ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน และปัญหาในเชิงโครงสร้างขององค์กรต่าง ๆ ที่ดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมแบบต่างฝ่ายต่างทำภายใต้กฎหมายแต่ละฉบับที่ให้อำนาจ ซึ่งรากฐานของปัญหาที่เป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้างคือ ภาครัฐให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่าผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน
รศ. นพ. นิธิพัฒน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า "เมื่อประชาชนมีความเข้าใจและตระหนักรู้ในปัญหาฝุ่น PM 2.5 และผลกระทบต่อสุขภาพ รู้จักป้องกันตนเอง และมีส่วนร่วมในการที่จะลดปัญหาไม่เป็นผู้สร้างแหล่งกำเนิดของฝุ่น มีการบูรณาการของทุกภาคส่วนเพื่อแก้ไขปัญหาระยะยาว ทั้งการบังคับใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อควบคุมแหล่งกำเนิดฝุ่น และการปรับใช้เทคโนโลยีที่สอดคล้องกับบริบทของประเทศ จะทำให้เกิดการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างยั่งยืน"
ไม่มีความคิดเห็น