SBCN จัดประชุมสู่เครือข่ายมะเร็งเต้านม 4 ภาค ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่กลับเป็นซ้ำและแพร่กระจาย
จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุขพบว่า มีคนไทยที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งสูงถึง 84,073 คนต่อปี [1] โดยโรคมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในหญิงไทยคือ มะเร็งเต้านม และพบการกลับมาเป็นซ้ำของมะเร็งเต้านมหรือการแพร่กระจายของโรค ทำให้ผู้ป่วยหลายรายหมดกำลังใจในการรักษา โดยไม่รู้ว่าตรวจพบเร็ว เข้ารับการรักษาเร็ว และดูแลตนเองอย่างถูกวิธี จะทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและสามารถใช้ชีวิตอยู่กับคนที่รักได้อีกนาน
เครือข่ายมะเร็งเต้านมภาคเหนือตอนบน (Suandok Breast Cancer Network: SBCN) เดินหน้าขับเคลื่อนส่งต่อความรู้ใหม่ ๆ ผ่านการจัดประชุมวิชาการเครือข่ายมะเร็งเต้านมประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการให้ความรู้เพื่อเฝ้าระวัง ดูแลรักษา ติดตาม ลดอุปสรรค และเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการรักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่กลับมาเป็นซ้ำ และระยะแพร่กระจายได้อย่างเหมาะสม สร้างความเข้มแข็งให้เครือข่าย เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ตลอดจนสร้างแนวทางการปฏิบัติในการรักษาโรคให้โรงพยาบาลเครือข่าย
ศ. พญ. อิ่มใจ ชิตาพนารักษ์ ประธานเครือข่ายมะเร็งเต้านมภาคเหนือตอนบน เผยว่า "ปีนี้เป็นครั้งแรกที่นอกจากจะมีการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลรักษาโรคมะเร็งเต้านมในแง่มุมใหม่ ๆ แล้ว ยังได้ริเริ่มให้มีกิจกรรมถอดบทเรียนแบ่งปันประสบการณ์จากตัวแทนเครือข่ายมะเร็งเต้านมจาก 4 ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ภาคปฏิบัติที่แตกต่างกัน เพื่อพัฒนาองค์ความรู้และระบบการส่งต่อ การดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่กลับเป็นซ้ำและแพร่กระจายในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ห่างไกลให้ได้รับการดูแลรักษาทันเวลา ซึ่งจะสามารถเพิ่มอัตราการรอดชีวิตและเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น"
SBCN มีเป้าหมายเพื่อลดอุปสรรคและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการรักษาได้ง่ายและรวดเร็ว สร้างความเข้มแข็งให้เครือข่าย ตลอดจนสร้างแนวทางการปฏิบัติในการรักษาโรคให้โรงพยาบาลเครือข่าย โดยได้มีการพัฒนาระบบคิวออนไลน์ในการส่งตัวผู้ป่วยเข้าตรวจคัดกรอง จัดให้มีคิวผ่าตัดพิเศษ สร้าง One Stop Service สำหรับผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ควบคู่กับการจัดอบรมให้ความรู้บุคลากรทุกระดับ แพทย์ พยาบาล และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านอย่างต่อเนื่อง เพื่อเฝ้าระวัง ติดตามดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่กลับเป็นซ้ำและแพร่กระจายได้อย่างถูกวิธี
"เราจัดให้มีการอบรมให้ความรู้เรื่องโรคมะเร็งเต้านมระยะกลับเป็นซ้ำและแพร่กระจาย โดยเฉลี่ย 90% ของผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเต้านมทุกระยะจะมีอัตราการรอดชีวิตที่ยาวนาน ดังนั้น แม้จะรักษาหายแล้วก็ยังมีโอกาสที่มะเร็งเต้านมจะกลับเป็นซ้ำหรือแพร่กระจายได้อีก" ศ. พญ. อิ่มใจ กล่าว
อสม. เข้มแข็ง...ถักทอเครือข่ายเติบโตเข้าถึงชุมชน
ปัจจุบัน SBCN มีบุคลากรทางการแพทย์และอสม. ร่วมในเครือข่ายกว่า 500 คน และมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยการอบรมให้ความรู้อย่างสม่ำเสมอ รวงทอง จันทร์แก้ว อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน รพ.สต. หนองช้างคืน จ.ลำพูน ที่เข้าร่วมรับการอบรมเครือข่ายครั้งนี้เล่าว่า "อสม. ส่วนใหญ่ให้ความสำคัญและรอคอยการอบรมในครั้งนี้มาก เพราะเป็นเวทีที่จะได้รับความรู้ใหม่ ๆ เพื่อใช้ในการดูแลให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วย หลังจากเข้าร่วมเครือข่ายในปีแรก ได้ลงพื้นที่ให้ความรู้และพบผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเต้านมจำนวน 10 คน จากคนในชุมชนทั้งหมด 3,000 คน โดยส่วนมากเป็นโรคในระยะเริ่มต้น ผู้ป่วยจะได้รับคำปรึกษาจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และเข้าสู่ระบบการส่งตัวเพื่อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลลำพูนได้โดยตรงผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางแล้ว ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาที่รวดเร็วขึ้น โดยหน้าที่หลักของอสม. จะเน้นการลงพื้นที่ติดตามอาการ สอบถามพูดคุยให้กำลังใจผู้ป่วย อธิบายขั้นตอน และผลข้างเคียงของการรักษาเพื่อการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง ในผู้ป่วยที่รักษาหายแล้วก็จะก็ช่วยติดตามอาการ หากกลับมาเป็นซ้ำ"
ก้าวต่อไปของโครงการ…ความท้าทายของการดูแลประคับประคอง
"SBCN ประสบความสำเร็จราว 70% ด้วยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชน ที่เห็นความสำคัญและให้การสนับสนุนการจัดอบรมเผยแพร่ความรู้แก่บุคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนอสม. ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการดูแลสุขภาพของคนในชุมชนเสมอมา ทำให้เครือข่ายมีความเข้มแข็งและเติบโตอย่างต่อเนื่อง เรามีเป้าหมายที่จะเพิ่มความรู้ให้บุคลากรมีความพร้อมในการดูแลประคับประคองสำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในระยะท้าย เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจจากการรักษาที่เหมาะสม ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อนสำหรับสังคมไทยและเป็นงานที่ท้าทายอย่างยิ่ง ซึ่ง SBCN ได้เริ่มจัดการอบรมแล้วในจังหวัดเชียงใหม่ และจะมีการติดตามผลเพื่อเดินหน้าขยายผลต่อเนื่องไปอีก 4 จังหวัดในภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงราย แม่ฮ่องสอน พะเยา และลำพูน ซึ่งคาดว่าจะขยายขอบข่ายโครงการครอบคลุมทั้งหมดภายใน 5 ปี (2564-2568) ซึ่งจะทำให้การรักษาโรคมะเร็งเต้านมครบวงจรมากขึ้น" ศ. พญ. อิ่มใจ กล่าว
ภญ. สุมาลี คริสธานินทร์ ประธานบริหาร บริษัท โนวาร์ตีส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า "โนวาร์ตีสตระหนักถึงความสำคัญในการรักษาโรคมะเร็งเต้านมที่มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทุกปี ทั้งผู้ป่วยรายใหม่และกลับมาเป็นซ้ำ เราจึงพร้อมให้การสนับสนุนหน่วยงานทุกภาคส่วน ซึ่งรวมถึง SBCN ในการจัดอบรมให้ความรู้บุคลากรทางการแพทย์ อสม. รวมถึงกลุ่มผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการรักษา เรารู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้เห็นการเติบโตที่แข็งแกร่งของเครือข่ายมะเร็งเต้านมไทย และภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อน เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่กลับเป็นซ้ำและแพร่กระจายได้เข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพอย่างรวดเร็ว เพื่อเพิ่มโอกาสรอดชีวิตยาวกว่า 5 ปีและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น"
[1] (ข้อมูลปี 2562 จากกองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข)
ที่มา: https://prarena.ixz.one/2023/03/sbcn-4.html (ดูรายละเอียดและภาพประกอบเพิ่มเติม)
ไม่มีความคิดเห็น